การระบาดใหญ่ของโควิดเปลี่ยนแปลงการมีเซ็กส์ อย่างไร?
จากเดิมที่มีธุระปะปังต้องออกไปทำนอกบ้านจนล้นตาราง การล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้คู่รักบางคู่ได้พักผ่อนอย่างที่พวกเขาต้องการ ในช่วงแรก ๆ การต้องอยู่แต่ในบ้านทำให้พวกเขาทำอะไรช้าลงและมีเวลาใกล้ชิดกันมากขึ้น
"ในช่วงแรก การระบาดใหญ่ทำให้คนมีโอกาสที่จะกลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้งในแบบที่บางทีก่อนหน้านี้พวกเขาสามารถทำได้เฉพาะช่วงวันหยุดพักผ่อนเท่านั้น" เจเมอา กล่าว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ก็เริ่ม "ส่งผลกระทบรุนแรง" ต่อความสัมพันธ์ทางเพศ เธอกล่าวว่า "สำหรับคู่รักส่วนใหญ่ ความต้องการทางเพศลดต่ำลง"
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นเดียวกับการระบาดใหญ่ของโควิดการวิจัยที่ทำในตุรกี อิตาลี อินเดีย และสหรัฐฯ ในปี 2020 ต่างบ่งชี้ว่าคู่รักมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง รวมถึงการช่วยตัวเอง ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการล็อกดาวน์
"ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญสำหรับเรื่องนี้คือ เพราะคนจำนวนมากเครียดเกินไป" จัสติน เลห์มิลเลอร์ นักจิตวิทยาสังคมและนักวิจัยที่สถาบันคินซีย์ ซึ่งทำการวิจัยที่อยู่ในสหรัฐฯ กล่าว
สำหรับคนส่วนใหญ่ การล็อกดาวน์ที่เกิดจากการระบาดใหญ่ทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวและความไม่แน่นอนขึ้น หลายคนเผชิญกับความกังวลใจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีความไม่มั่นคงทางการเงิน และมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่สำคัญหลายอย่าง
นอกจากความเครียดที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้ ยังมีปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้เวลากับคนอีกคนหนึ่งมากเกินไปในพื้นที่แคบ ๆ ภายในบ้าน ซึ่งมีส่วนทำให้ชีวิตทางเพศของคนที่มีคู่ลดน้อยลงอย่างมาก
พิสูจน์กันแล้วว่า โลกในยุคโควิด-19 ไม่ได้เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ทางเพศ ดังนั้น เราจะสามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ไหม หลังจากความเครียดช่วงการระบาดใหญ่ค่อย ๆ ลดน้อยลง หรือความสัมพันธ์ของเราจะเผชิญกับความเสียหายในระยะยาว
ความต้องการที่ลดลงรอนดา บัลซารินี นักจิตวิทยาสังคม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยรัฐเทกซัส สหรัฐฯ เรียกความต้องการทางเพศที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกว่า ช่วง "ฮันนีมูน" ซึ่งเป็นการที่คนตอบสนองต่อความเครียดในทางสร้างสรรค์
"ในช่วงนี้ คนน่าจะช่วยเหลือกันดี อาจจะเป็นตอนที่คุณกำลังไปบ้านเพื่อนบ้าน และเอากระดาษชำระให้พวกเขาถึงหน้าบ้านตอนที่พวกเขาขาดแคลน" บัลซารินี กล่าว
"แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อทรัพยากรต่าง ๆ เริ่มขาดแคลนมากขึ้น ผู้คนเริ่มเครียดมากขึ้น และเริ่มเหนื่อยล้า ความท้อแท้ ความซึมเศร้าเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่ออาการเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้น เราก็อาจจะเริ่มเห็นคู่รักเริ่มมีปัญหา" บัลซารินี กล่าวเพิ่มเติม
บัลซารินี สังเกตเห็นรูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นในผู้เข้าร่วมการวิจัยอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 57 ประเทศที่เข้าร่วมการศึกษาที่เธอและเพื่อนร่วมงานจัดทำขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่
ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ บัลซารินีและเพื่อนร่วมงานเห็นหลายปัจจัยอย่าง ความกังวลทางการเงินมีความสัมพันธ์กับความต้องการทางเพศที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างคู่รัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนได้เริ่มรายงานเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ รวมถึง ความเหงา ความเครียดทั่วไป และความกังวลเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 พวกเขายังรายงานด้วยว่า คู่รักของตัวเองมีความต้องการทางเพศลดลงบัลซารินี ระบุว่า ผลการศึกษาที่สำคัญที่ได้จากการศึกษานี้คือ มีความสัมพันธ์กันระหว่างความเครียด การซึมเศร้า และความต้องการทางเพศ
เธออธิบายว่า ในช่วงเริ่มต้นการระบาดใหญ่ ตัวที่ทำให้เกิดความเครียดอาจจะยังไม่ได้ "กระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้าขึ้น" แต่เมื่อตัวที่ทำให้เกิดความเครียดต่าง ๆ คงอยู่เป็นเวลายาวนาน คนก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า
เธอกล่าวว่า ความเครียดมีความสัมพันธ์กับการซึมเศร้า และ "การซึมเศร้าส่งผลด้านลบต่อความต้องการทางเพศ"
นอกจากเรื่องที่ทำให้เครียดในแต่ละวันที่เกิดจากการระบาดใหญ่แล้ว ความเสี่ยงที่ใหญ่กว่าของไวรัสนี้ก็เริ่มเห็นลาง ๆ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทั่วโลก
ภัยที่เกิดขึ้นนี้แน่นอนว่าย่อมทำให้อารมณ์ของคู่รักหมดไปด้วย
"คุณคงจะได้ยินนักบำบัดทางเพศพูดทำนองว่า 'ม้าลายสองตัวจะไม่ผสมพันธุ์กันต่อหน้าสิงโต'" เจเมอา กล่าว "ถ้ามีภัยคุกคามขนาดใหญ่อยู่ตรงนั้น มันจะส่งสัญญาณไปยังร่างกายของเราว่า อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์"
ด้วยเหตุผลนี้เอง "ความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นจึงนำไปสู่ความต้องการที่ลดลง หรือการปลุกเร้าอารมณ์ที่ยากขึ้น" เธอกล่าว
"อยู่ด้วยกัน" มากเกินไปเพราะเรื่องเหล่านี้ต้องหลีกทางให้กับสิ่งที่จำเป็นต้องทำในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น บ้านที่รกขึ้น และคู่รักเริ่มจับผิดกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
เลห์มิลเลอร์ เรียกเรื่องนี้ว่า "ผลของการอยู่ด้วยกันมากเกินไป" ซึ่งเป็นการทำให้ "คู่รักของคุณใส่ใจกับลักษณะนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ" และบัลซารินีจำได้ว่า มีคนเล่าให้เธอฟังว่า เขาไม่เคยรู้เลยว่า คู่รักของเขาเคี้ยวอาหารดังแค่ไหนจนกระทั่งได้เริ่มกินอาหารด้วยกันทุกมื้อในช่วงล็อกดาวน์"
ช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันเพิ่มมากขึ้นนี้ยังทำให้ความตื่นเต้นทางเพศลดลงอย่างมากด้วย
"หนึ่งในกุญแจสำคัญในการรักษาความต้องการไว้ในความสัมพันธ์ระยะยาว คือ การที่คู่รักของคุณมีความลึกลับบางอย่าง และการเว้นระยะห่างกัน เลห์มิลเลอร์กล่าว "ตอนที่คุณเห็นกันอยู่ตลอดเวลา...ความรู้สึกลึกลับมันหายไป"
การที่มีชีวิตแยกออกมาจากช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ที่ต้องมีการเข้าสังคมหรือการทำงาน ผู้คนอาจเริ่มสูญเสียความเป็นตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจทางเพศและการแสดงออกทางเพศได้
โดยเฉพาะผู้หญิง ต้องทิ้งงานของตัวเองไว้ในช่วงการระบาดใหญ่ เพราะต้องรับภาระงานอื่นมากกว่าผู้ชาย ทั้งงานบ้าน การดูแลลูก และการต้องสอนหนังสือลูกจากบ้าน
"นั่นเป็นเรื่องลำบากจริง ๆ สำหรับผู้หญิง" เจเมอา กล่าว "[งาน] เป็นส่วนสำคัญของตัวตน และเราเอาทุกอย่างเข้ามาทำในห้องนอน ถ้าเราไม่รู้ว่า เราเป็นใคร จู่ ๆ มันก็อาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า ไม่มีอะไรเหลือเลย"
เราจะกลับมาเหมือนเดิมได้ไหมนักวิจัยที่สถาบันคินซีย์ แนะนำว่า พฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจงอย่างหนึ่งในการพัฒนาชีวิตทางเพศของคู่รักคือ การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
ผู้เข้าร่วมการศึกษา 1 ใน 5 พยายามลองทำอะไรใหม่ ๆ บนเตียง และมันก็ช่วยฟื้นฟูความต้องการทางเพศและความสัมพันธ์ทางเพศได้
"คนที่ลองทำอะไรใหม่ ๆ มีแนวโน้มที่จะรายงานถึงการพัฒนาขึ้นมากกว่า" เลห์มิลเลอร์ กล่าว
จากการศึกษา กิจกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาชีวิตทางเพศของคู่รักรวมถึง "การลองท่าใหม่ ๆ การแสดงบทบาทแฟนตาซี การลอง BDSM [การมีเพศสัมพันธ์ที่คู่รักแสดงบทบาทถึงความเป็นทาส (bondage), การลงโทษ (discipline), การปกครอง (dominance), การยอมจำนน (submission), การมีความสุขจากการทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด (sadism) และการมีความสุขจากการถูกผู้อื่นทำให้เจ็บปวด (masochism)] และการนวด"
แต่สำหรับคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ซึ่งกิจกรรมทางเพศลดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา และยังไม่กลับคืนมา จะส่งผลเสียในระยะยาวไหม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ก็ไม่แน่เสมอไป
เลห์มิลเลอร์บอกว่า บางคนอาจจะไม่ฟื้นตัว "เพราะพวกเขาขาดการติดต่อกันเป็นเวลานาน"
งานวิจัยของเขายังเผยให้เห็นว่า บางคนนอกใจคู่รักตัวเองเป็นครั้งแรกในช่วงการระบาดใหญ่ การเผลอใจที่ทำให้คู่รักยากที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
หลายคนยังคงได้รับผลกระทบจากการตกงานที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ รวมถึงความเครียดด้านการเงินที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขา และอาจจะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น
แต่สำหรับหลายคน ยังมีหวัง การที่มีคนได้รับวัคซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง และคนงานบางส่วนกลับไปทำงานที่สำนักงาน
"ผู้คนเริ่มกลับไปสู่ชีวิตประจำวันแบบเดิม" เจเมอา กล่าว เธอมองเห็นผลกระทบด้านบวกของเรื่องนี้ต่อคู่รักที่เธอดูแล
เธอบอกว่า การกลับสู่ "ความปกติ" ทุกชนิด เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีสำหรับคู่รักที่เผชิญกับความลำบากในช่วงการระบาดใหญ่
"มันเป็นไปได้ว่า ทันที่ที่มีการควบคุมการระบาดใหญ่ได้ คู่รักบางคู่ ก็จะกลับไปเป็นแบบเดิมที่เคยเป็น" เลห์มิลเลอร์ กล่าวเสริม
ตัวที่ทำให้เกิดความเครียดนั้นหมดไปแล้ว ชีวิตทางเพศของพวกเขาก็จะดีขึ้นเครดิตแหล่งข้อมูล : bbc.com/thai