ปลดทุกข์พุทธศาสนาสอนในเรื่องเหตุและผล ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การที่เราได้หรือเผชิญอะไรอยู่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากกรรมที่เราทำมาทั้งสิ้น อธิบายให้เข้าใจเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำโดยเจตนาที่เราทำไปแล้ว ซึ่งจะมีผลตามมาเสมอ โดยกรรมจะส่งผลตรงมาที่ความรู้สึก
เมื่อกรรมส่งผล กรรมอาจจะชักจูงให้เราไปอยู่ในสถานการณ์คล้ายหรือต่างกัน แต่ความรู้สึกที่เรารู้สึกจะเหมือนกันกับที่เราเคยทำไว้กับคนอื่นไม่มีผิดเพี้ยน ดังนั้นหากอยากรู้ว่าไปทำกรรมอะไรจึงต้องมารู้สึกแบบนี้ก็ไม่ต้องไปถามใครที่ไหน ให้ดูเข้ามาข้างในใจ ที่ความรู้สึกที่ปรากฎอยู่ เพราะเหตุและผลของกรรมส่งมาที่กายและใจเราทั้งหมดแล้ว
เมื่อมีทุกข์ก็ให้ดูไปตรงๆที่ความรู้สึกที่ปรากฎทุกครั้งที่ระลึกถึงเรื่องนั้นๆ รูปแบบของกรรมที่เราทำไว้ ผู้ถูกกระทำในอดีตก็รู้สึกอย่างเดียวกับที่คุณรู้สึกอยู่นี้ ถ้าเรารู้สึกไม่เป็นกลางต่อเรื่องใดๆ หรือเรียกได้ว่ายิ่ง "จี๊ด" มากเท่าไหร่ ก็เป็นตัวสะท้อนถึงระดับความรุนแรงของเหตุที่เราเคยได้สร้างไว้นั่นเอง
ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ก็ต้องลงมือปรับเปลี่ยนใหม่ที่ตนเอง โดยต้องเข้าใจกฎของธรรมชาติก่อนว่า เราไม่สามารถย้อนอดีตไปแก้ไขเรื่องที่ผ่าน หรือกรรมที่ทำไปแล้วได้ เราจึงหลีกเลี่ยงการที่จะได้รับผลนี้ไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลของกรรมได้ แต่เราสามารถเลือกกระทำกรรมที่จะส่งผลให้เรามีทุกข์ทางใจน้อยลงเมื่อวิบากส่งผล และสามารถเลือกสร้างเหตุที่จะทำให้ไม่ต้องเจอความทุกข์แบบนี้อีกตลอดไปได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนที่วิธีคิดอันมาจากมุมมองหรือจุดยืน เพราะทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ การจะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องแก้ที่ใจล้วนๆ และต้องแก้ให้ถูกด้วยวิธีการดังนี้คือ
ข้อแรก แก้ให้ถูกตัว คือ แก้ที่ตัวเราใจเราแทนที่จะโทษคนอื่น หรือพยายามไปเปลี่ยนที่คนอื่น เช่น เปลี่ยนให้เขาทำตามอย่างที่เราหวังให้เป็น ให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น ก็ให้กลับมาเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อน ด้วยเหตุว่า เราต้องการแก้ปัญหาความทุกข์ของเรา เราจะรู้สึกทุกข์ รู้สึกแย่อย่างไร ก็ด้วยกรรมที่เราเคยมีเจตนาทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างนั้น กรรมของใครก็ของคนนั้น ความทุกข์ของเรามันมาจากกรรมเก่าของเรา แทนที่จะไปเปลี่ยนแปลงการกระทำคนอื่นในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเขายอมเปลี่ยน เขาต่างหากที่จะเป็นผู้ได้รับผลในอนาคต แต่ถ้าเรายังใช้กรรมในส่วนของเราไม่หมด ก็เหมือนเรายังต้องเป็นทุกข์เพราะมีหนี้ หนี้ที่ยังไม่ใช้ ถ้าไม่สำนึกเราก็จะต้องไปรับผลของกรรมในอดีตจากคนอื่นๆในอนาคตอยู่ดี
การหลุดออกจากทุกข์ได้ จึงไม่ได้ทำได้ด้วยการต่อว่าบีบบังคับให้ใครเปลี่ยน หรือการหนี แต่หลุดได้ด้วยการยอมรับความจริงคือ ยอมรับในสิ่งที่กรรมจัดสรรมาให้ เราทำมาแค่ ๓ เราก็ต้องได้แค่ ๓ ถ้าทำมาแค่ ๓ แต่อยากได้เกินกว่านั้นเป็น ๔ เป็น ๙ ก็คงต้องทุกข์อย่างแน่นอนเพราะไม่มีทางที่จะได้เกินกว่า ๓ ตามที่สร้างเอาไว้ "ถ้าอยากได้ผลอย่างไรก็ต้องสร้างเหตุใหม่อย่างเดียวกันนั้น ด้วยการแก้ที่นิสัยของเรา"
อ่านอย่างนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัยอย่างหนักว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำนะ มีคนมาทำไม่ดีกับเรา แล้วเราจะแก้ตัวเองแบบไหนล่ะ?
คำตอบนี้นำไปสู่วิธีแก้ข้อ ๒ คือ แก้ให้ถูกจุด เกาให้ถูกที่ ใส่ยาให้ถูกแผล เป็นไปตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เราเจออะไรซ้ำๆ เพราะเราทำ ในการกระทำกรรมแต่ละครั้ง เมื่อเราทำเราก็จะมีอนุสัย (นิสัย) หรือสันดานนั้นๆ ฝังอยู่ในใจ เช่น แรกๆเราเป็นคนใจเย็น แต่พอโตขึ้นเรามีปัญหาเข้ามาหลายอย่าง เราก็เริ่มหงุดหงิด พอเราชินที่จะขี้หงุดหงิด เราก็จะกลายเป็นคนขี้โมโห ตัวอย่างเมื่อกรรมส่งผลก็เช่น ถ้าเราขี้โมโห เราชอบพูดจาไม่ดีกับคนอื่น ใช้โทสะหรือความโกรธนั้นๆ ในการกระทำกรรม ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ รู้สึกไม่ดี พอกรรมมันจะสนอง มันจะส่งให้เราไปเจอ หรือไปอยู่ท่ามกลางคนที่พูดจาไม่รักษาน้ำใจ ทำให้เรารู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่เช่นกัน (สาวๆ สวยๆ ที่เอาแต่ใจ พึงระวัง เห็นเจอแบบนี้หลายรายแล้ว ^^) ซึ่งถึงแม้ว่าเรารับผลของกรรมแล้ว แต่ถ้าจิตยังไม่เรียนรู้ ยังไม่ยอมเปลี่ยนนิสัย ยังเลือกที่จะทำแบบเดิมโดยไม่เชื่อว่ามันเป็นผลจากสิ่งที่เราทำ จิตยังไม่ได้เรียนรู้ว่ามีอะไรที่ไม่ดีที่ยังค้างอยู่ในจิตให้ต้องสืบภพ จิตก็จะมีอนุสัยสืบต่อให้ไปทำกรรมแบบนั้นแล้วได้รับผลแบบเดิมอีก และโดยมากจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธรรมชาติของจิตมนุษย์นั้นไหลลงต่ำ ที่อยู่ๆจะกลับนิสัยจากร้ายเป็นดีได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าไม่ทุกข์หนักๆ จริงๆ ไม่ย้อนกลับมาดูที่ตนเอง ก็จะไม่มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ข้อบกพร่องของตัวเอง มีแต่จะเคยชินยิ่งนานยิ่งสะสมนิสัยด้านไม่ดีไว้มากขึ้น ดังนั้นหากเราจะถอดถอนวงจรการรับผลของกรรมนี้ เราก็ต้องหยุดที่ต้นเหตุ คือตัวเรา คือนิสัยที่จะสืบเนื่องให้เราได้รับผลของกรรมนั้นๆต่อไป
โดยนัยนี้คือการเลิกขุดหลุมที่กรรมขุดล่อไว้ให้ตกลงไป โดยเห็นว่าสิ่งที่เราได้รับนั้นคือ สิ่งที่ควรกัน เหมาะสมกันแล้วกับสิ่งที่เราเคยทำมาในอดีต เป็นสิ่งที่เราต้องรับ แทนที่จะตีโพยตีพาย แทนที่จะไปโวยวาย ก่อกรรมใหม่ หรือสร้างหนี้ใหม่เพิ่มโดยไม่ได้ชดใช้หนี้เก่า ก็จะเต็มใจทยอยชดใช้ไป ด้วยการสำนึกว่าเราเคยไปทำให้คนอื่นรู้สึกแบบนี้ และเข้าใจแล้วว่าก้อนทุกข์นี้มันทำร้าย สร้างความเจ็บปวดให้เขาอย่างไร (เพราะเราเจอมาแล้วกับตัวเอง)
ถ้านึกขึ้นได้ว่าเคยทำกับใครไว้ในชาตินี้ (ผู้ที่ถูกกระทำไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแฟนเก่า กิ๊กเก่าเท่านั้น แต่โดยมาก มากกว่าร้อยละ ๕๐ เป็นกรรมที่เราทำไว้กับพ่อแม่ รองลงมาจึงเป็นแฟนเก่า คู่รักเก่า คนที่มาชอบเรา และอื่นๆ) ให้รีบไปขออโหสิกรรมจากคนเหล่านั้นโดยเร็วที่สุด ตั้งสัจจะกับตนเอง อาจจะต่อหน้าคนที่เราเคยไปกระทำเขาไว้ หรือต่อหน้าพระพุทธรูปว่า เราจะไม่ทำกรรมอย่างนี้กับใครอีกไม่ว่าจะมีเหตุการณ์มาบีบบังคับ ลำบากเพียงใด แต่ถ้านึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าเคยไปทำอะไรแบบนี้ไว้กับใครตอนไหนในชาติปัจจุบันก็เป็นไปได้ว่าเป็นผลของกรรมที่เราทำมาในอดีตชาติ ก็ขอให้ระลึกขออโหสิกรรม และตั้งใจอย่างเดียวกันว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก
การตั้งใจ อันมีเจตนา และสัจจะอธิษฐานที่จะละเว้นการกระทำนี้เอง คือศีล ซึ่งเป็นมโนกรรมที่ส่งผลในการปกป้องทุกข์ทางใจเป็นอันดับแรก เพราะว่าความตั้งใจทางมโนกรรมนั้นเป็นการกระทำด้วยเจตนาอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องมีผลตามมาซึ่งผลของกรรมนี้ก็คือ ปราการป้องกันใจเราจากทุกข์ (เพราะเราตั้งใจไม่ให้ผู้อื่นเป็นทุกข์) ยิ่งตั้งใจหนักแน่นมากขึ้นเท่าไหร่ ความหนักแน่นในการปกป้องทุกข์ก็จะยิ่งมั่นคงขึ้นตาม
เมื่อเรามีศีลจิตใจก็จะเริ่มสงบจากการแส่ส่ายร้อนรนเพราะความทุกข์ ความตั้งใจที่จะละเว้นนี้ จะส่งผลให้จิตเกิดความปกติ เกิดนิสัยที่จะสำรวมการกระทำทางกายและค่อยๆเคลื่อนมาที่ การสำรวจวาจา คำพูดและในที่สุดก็คือ ความคิด อันเป็นต้นเหตุว่าสิ่งใดนำไปสู่การละเมิดใจผู้อื่น เมื่อเราสำรวจเข้ามาบ่อยเข้า และตัดไปเป็นครั้งๆ มากเข้าก็จะกลายเป็นเปลี่ยนนิสัย หรือตัดกรรมส่วนนี้ได้อย่างเด็ดขาด นั่นจึงจะเป็นทางออกจริงๆ ที่จะทำให้ทุกอย่างจบลงอย่าง Happy Ending
การทดลองวิธีแก้กรรมโดยแก้ที่ต้นเหตุตามกระบวนการนี้ ย้ำอีกครั้งว่า สาระสำคัญของการแก้วิบากกรรมคือ
๑. เข้าใจกฏแห่งกรรม
๒. ชำระหนี้เก่า (ยอมรับสิ่งที่ได้เจอ สำนึกผิดให้ได้ก่อนในระดับ ที่จะไม่ทำอีกเลยและไปขออโหสิกรรมจากคนที่เราไปทำเขาไว้ รวมทั้งอโหสิให้กับคนที่ทำกับเรา)
๓. สร้างเหตุใหม่ที่ดี (ตั้งใจว่าจะไม่ทำให้ใครทุกข์แบบเดียวกับที่เราทุกข์อีกแล้ว หรือไปแนะนำช่วยคนอื่นไม่ให้ทำผิดตามเรา)
การทดลองนี้พี่ชายได้เคยทดลองทำมาแล้วด้วยตัวเอง และได้แนะนำให้คนอื่นๆได้ทดลองมาแล้วเป็นหลายร้อยครั้ง รวมทั้งตัวดิฉันเอง ถ้าสำนึกผิดอย่างแท้จริงถึงระดับที่ไม่พยายามรักษามันไว้อีกต่อไป เช่น เมื่อมีผู้กล่าวถึงความผิดนั้นๆก็ไม่โกรธเคือง และไม่ระคายใจเพราะเห็นแล้วว่าสิ่งนั้นนิสัยนั้นไม่ใช่เรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเสียหน้า ตรงกันข้ามคือเห็นว่านิสัยแบบนั้นไม่ดีและเป็นสิ่งที่ต้องพากเพียรขัดเกลามันออกเพื่อทิ้งนิสัยนี้ไปให้หมด จนกระทั่งสามารถพูดอย่างเปิดเผยถึงความผิดนั้นๆ ทุกขั้นทุกตอนโดยละเอียดเสมือนว่าไม่ใช่เรื่องของเรา โดยสามารถพูดกับใครก็ได้ที่สนใจเพื่อเขาจะได้ไม่ทำผิดพลาดแบบเดียวกับที่เราเคยทำไปในอดีต รวมทั้งจะไม่กลับไปกระทำอย่างนั้นอีกแม้จะมีสิ่งดึงดูดใจให้กระทำ ก็จะพบว่าทุกข์ทางใจจะลดลงในชั่วข้ามคืน และคนรอบตัวที่ก่อเหตุแห่งทุกข์ก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เห็นในหลักไม่กี่วัน และเรื่องราวจะ
จบลงสิ้นเชิงในหลักไม่กี่เดือน
ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ายังโกรธเมื่อมีใครพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีของตน หรือยังพยายามปิดบัง กลบเกลื่อน อ้างเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อปกป้องว่าสิ่งที่เคยกระทำนั้นดีแล้ว ถูกแล้ว มีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อจะได้ไม่เป็นผู้ผิด(หรือผิดน้อยลงหน่อย) หรือยังกล่าวโทษผู้อื่นว่าเป็นผู้ผิดหรือมีส่วนผิดที่มากระทำเอากับเรา นี่แสดงว่ายังไม่ทิ้ง นิสัยนั้น ยังพยายามปกป้องหรือเก็บรักษานิสัยนั้นๆไว้ในตนเอง นี่ยังไม่ใช่การสำนึกผิด ยังมีโอกาสกลับไปทำอีก และจะต้องไปรับผลนั้นซ้ำอีก จนกว่าจะยอมทิ้งมันไปโดยถาวร
อธิบายให้เห็นภาพในการหยุดวงจรส่วนของเราว่า การสร้างเหตุและผลนั้นเหมือนเราเป็นคนปลูกต้นไม้ ต้นไม้จะหยุดเติบโต เมื่อเราหยุดให้น้ำ เช่นกัน การรดน้ำต้นไม้แห่งกรรมจะสิ้นสุดลง เมื่อจิตเราหมดเหตุที่จะสร้างกรรมชนิดนั้นต่อไป ซึ่งหมายถึงการที่เราสำนึกได้แล้วอย่างเด็ดขาดว่า ถ้าเราทำกรรมอย่างนี้ๆแล้ว เราจะ ได้รับกรรมอย่างนั้นๆ ซึ่งมันเชื่อมโยงกันได้ แต่การหยุดให้น้ำไม่ได้ หมายความว่าต้นไม้จะตายในทันที เช่นกัน การหยุดรดน้ำต้นกรรม ผลของกรรมก็จะไม่ได้หยุดลงในทันที แต่จะส่งผลไปอีกระยะหนึ่งให้เราได้ใช้กรรมจนกว่าเชื้อกรรมที่เราเคยทำไว้หมดลง ต้นกรรม ก็จะแห้งและตายไปในที่สุด ทำนองเดียวกับต้นไม้เล็กๆ หยุดรดน้ำ ไม่กี่วันก็ตาย แต่ถ้าเป็นต้นไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่สัก ๖ คนโอบ หยุดรดน้ำแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะตายและหยุดให้ผล แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่รู้ตัวและให้ปุ๋ยให้น้ำมันไปเรื่อยๆ และจะต้องรับผลของต้นกรรมนั้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าคุณตั้งใจดีแล้ว และได้ลองปฏิบัติตามนี้ก็หวังใจไว้ได้เลยว่าไม่นานจะออกจากวงจรกรรมนี้ได้ แต่คนส่วนมากอาจพลาด เพราะส่วนใหญ่ติดในทุกข์ หวงทุกข์เอาไว้ เพราะมีความไม่รู้เป็นเครื่องผูก ไม่รู้ว่าที่เราได้ เรามี เราเจออะไรเพราะผลของกรรม กรรมมันหลอกให้เรามาหลง มายึด มารักคนๆนี้เพื่อส่งผลให้เราได้รับผลจากกรรมที่เราทำมา ถ้าเราไม่มีสติ ไม่รู้ตัว กอดความทุกข์นี้ไว้ เราก็จะไม่ก้าวหน้าไปไหน และต้องเจอกับความทุกข์ซ้ำ แต่ถ้าเรา เลือกเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนการกระทำ เปลี่ยนนิสัยไปในทางที่ดี แฟนหรือคู่รักจะเป็นคนเดิมหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะถึงตอนนั้นใจจะคลายความยึดจากเหยื่อคือเขา/เธอตามกรรมที่ส่งมาหลอก และเราจะได้รับผลจากการกระทำดี ด้วยการมีความสุขนั่นเอง
แนะนำเพิ่มเติมอีกหน่อยนึงว่า ถ้าเกิดว่าเราระลึกไม่ออกว่าได้เคยไปทำผิดกับใครไว้ และอาจทำให้ไม่สามารถรู้สึกระลึกถึงความผิดนั้นๆเพื่อจะได้รู้สึกสำนึกออกมาจากใจ เป็นไปได้ว่าเราอาจยังไม่ได้สร้างเหตุให้เข้าใจกรรมของตัวเองได้เพียงพอ แนะนำให้ลองไปทำทานประเภทสละของใช้ที่เป็นของตัวเองแต่ไม่ใช้แล้วให้กับคนที่ยากไร้หรือขาดแคลนจริงๆ เพื่อเป็นการสอนใจให้ใจเลิกยึด รู้จักสละของที่รู้สึกว่าเป็นของตนออก จะทำให้ใจสามารถเปิดรับสิ่งดีๆได้ง่ายขึ้น หรือถ้ามีความทุกข์แต่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังไม่สามารถเข้าใจได้แนะนำให้ลองทำบุญด้วยการให้ธรรมะ แต่เน้นว่าต้องเป็นธรรมะที่เป็นไปเพื่อความเห็นไตรลักษณ์(อนิจจังทุกขังอนัตตาคือความเปลี่ยนแปลงความไม่สามารถทนอยู่และความไม่ใช่ตัวตน) ในกายและใจ จนเกิดความปล่อยวางเป็นสำคัญ เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ โดยมีเจตนาจะให้เขาพ้นทุกข์ (ถ้าให้เพื่อช่วยเหลือเรื่องความรักก็จะตรงจุดมากยิ่งขึ้น) จะทำให้ใจสามารถรับและเข้าใจธรรมะได้มากขึ้น