ผลเสียจากการเสพติดมือถือมากเกินไป (Phubbing) ภัยเงียบที่อาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคุณและคนรักลงแบบไม่รู้ตัว
โลกทุกวันนี้จำเป็นต้องพึ่งพิงเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือมากขึ้นทุกขณะ หลายคนใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระชับความสัมพันธ์ ส่งภาพ ส่งวิดีโอ และพูดคุยง่าย ๆ ผ่านโปรแกรมแชทต่าง ๆ แต่อะไรที่มากเกินไปมักส่งผลไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น เช่นเดียวกับการเสพติดมือถือมากเกินไป (Phubbing) ที่นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว แต่อาจส่งผลเสียทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคุณและคนรักแบบไม่รู้ตัว มาดูสิว่าผลเสียของการเสพติดมือถือมากเกินไปเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าคุณจะได้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที
1. ความห่างเหินเข้ามาแทนที่ความรัก
เป็นผลเสียที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการเสพติดมือถือที่ไม่คุ้มเลยจริง ๆ ลองจินตนาการดูแล้วกันว่าเมื่อต่างคนต่างเลือกที่จะก้มหน้าดูมือถือ เมื่อนั้นความเงียบจะเข้ามาแทรกแซง แล้วแบบนี้ความสัมพันธ์ที่ดีจะคงอยู่ได้อย่างไร คุณอาจจำเป็นที่จะต้องตั้งกฎขึ้นมา เช่น ระหว่างมื้ออาหารของคุณกับแฟนจะไม่นำมือถือขึ้นมา คุณทั้งคู่จะทานอาหารและพูดคุยกันอย่างเดียวเท่านั้น จะใช้เวลาที่มีร่วมกันให้มากที่สุด เผลอ ๆ อาจจะทำให้คุณลืมมือถือไปเลยก็ได้
2. เดือดร้อนแบบไม่รู้ตัว
การที่คุณเอาแต่เสพติดมือถือ แชร์ทุกความรู้สึก เปิดเผยทุกรายละเอียดลงบนสื่อโซเชียล (แบบไม่ทันคิด) คุณไม่รู้หรอกว่าโพสต์พวกนี้อาจกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้คุณวันไหนก็ได้ ที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้อาจสร้างความเดือดร้อนถึงขั้นหย่าร้างกัน ต่อให้คุณลบโพสต์ออกไป แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ยังสามารถขุดค้นขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นเพลา ๆ ลงบ้าง เปลี่ยนมาจับมือแฟนแทนการจับมือถือดีกว่ากันเยอะเลย
3. กิจกรรมบนเตียงน้อยลง
สำหรับคนที่เสพติดมือถืออย่างหนัก ยิ่งช่วงเวลาก่อนนอนคุณจะต้องสาละวนอยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ บนมือถือ ทั้งเล่นเกม แชทไลน์ ดูความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ก ระหว่างที่คุณเล่นมือถืออยู่นั้น ลองสละเวลาเสี้ยววินาทีที่จ้องหน้าจอมือถือ แล้วสังเกตปฏิกิริยาคนรักของคุณดูสิว่ามีอาการเป็นอย่างไร ที่จริงแล้วช่วงเวลาก่อนนอน ควรเป็นช่วงเวลาที่คุณจะสวีทกับแฟนหรือเปล่า จากเดิมที่คุณไม่ค่อยจะมีเวลาจู๋จี๋กันอยู่แล้ว ก็กลายเป็นว่าไม่มียิ่งกว่าเดิมเข้าไปอีก แล้วแบบนี้ใครจะไปทนอยู่ด้วยได้...จริงไหมคะ ?
4. นอกใจคนรักได้ง่ายขึ้น
ผลเสียนี้อาจถือได้ว่าเป็นผลเสียทางอ้อมของการเสพติดมือถือมากเกินไป เพราะย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับคนรักเก่า บางคนอาจเริ่มตั้งแต่โพสต์ อีเมล แชท โทรศัพท์ และสุดท้ายก็ลงเอยที่การแอบนัดพบกัน ในที่สุดชีวิตคู่ของคุณก็จะแตกร้าวจนไม่สามารถซ่อมได้
5. เกิดการเปรียบเทียบกับคู่ของตัวเอง
เพราะว่าสังคมบนโลกโซเชียลในมือถือส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความโอ้อวด คุณอาจจะเห็นการถ่ายภาพเซลฟี่กับคนรัก แล้วนึกอิจฉาในใจว่าทำไมพวกเขาช่างเป็นคู่รักที่สมบูรณ์แบบมาก ๆ จนอดไม่ได้ที่นำเอามาเปรียบเทียบกับคู่ของตัวเอง สุดท้ายก็เกิดเป็นความสั่นคลอน เห็นไหมว่ามีแต่แย่กับแย่
เราไม่ได้บอกว่าการเล่นมือถือเป็นเรื่องที่แย่ แต่จะเป็นเรื่องแย่ทันทีหากคุณไม่รู้จักแบ่งเวลา จัดสรรปันส่วนระหว่างโลกในมือถือและโลกความเป็นจริงได้อย่างเด็ดขาด สำคัญที่สุดคุณต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับคนรัก เพราะเขามีตัวตนอยู่จริง ๆ รู้อย่างนี้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกให้ความสำคัญส่วนไหนมากกว่ากัน