3. จัดสรรปันส่วนเงินในครอบครัว การต่างคนต่างหา ต่างใช้ ต่างเก็บ แม้ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องของการใช้ชีวิตคู่ และทำให้ระเบียบวินัยทาง
การเงินในครอบครัวถูกทำลาย เพราะชีวิตคู่คือคน ๆ เดียวกัน ทั้งในแง่ศาสนาและในแง่กฎหมาย แต่คนสองคนจะเป็นคนเดียวกันได้ต้องมีอะไรสักอย่างมายึดเหนี่ยวกันไว้ นั่นก็คือความผูกพัน ซึ่งการที่สองคนต่างหา ต่างใช้ ต่างเก็บ ต่างแยกกระเป๋า ก็คือจุดเริ่มต้นของความห่างเหินและความไม่ผูกพัน
ทางที่ดีควรแบ่งเป็น
"เงินเธอ" "เงินฉัน" และ "เงินของเรา" ประเด็นสำคัญอยู่ที่จำนวนเงินในแต่ละกอง ถ้าเป็นคนทำงานประจำด้วยกันทั้งคู่ ก็อาจแบ่งเอาง่าย ๆ ตามสัดส่วน และความจำเป็น แต่หากคนใดคนหนึ่งมีรายรับไม่แน่นอน หรือเป็นพ่อบ้าน-แม่บ้านที่ไม่มีรายได้ ก็อาจต้องคุยให้เข้าใจกันมากขึ้นว่าจะจัดการกับเงินและค่าใช้จ่ายของครอบครัวอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสะสมภายหลัง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากคนหนึ่งมีเงินเดือน 50,000 บาท อีกคนมีเงินเดือน 30,000 บาท เปอร์เซ็นต์การเก็บเป็นเงินของเราก็จะไม่เท่ากัน คนที่รายได้มากกว่าย่อมต้องเก็บมากกว่า เช่น หักเป็นเงินของเรา 40% ของเงินเดือน คนที่มีรายได้ 50,000 บาทก็ต้องเก็บ 20,000 บาท ส่วนคนที่มีรายได้ 30,000 บาทก็ต้องเก็บเข้าเป็นเงินของเรา 12,000 บาท ดังนั้นก็จะมีเงินเก็บ 42,000 บาทต่อเดือน แล้วจึงค่อยมาจัดสรรว่าจะแบ่งเป็นเงินออมเท่าใด และค่าใช้จ่ายเท่าไร
4. คิดอย่างรอบคอบก่อนจะสร้างหนี้ ขึ้นชื่อว่า "หนี้" ไม่มีใครอยากมีแน่นอน แม้หนี้บางอย่างอาจเป็นเรื่องดี เช่น หนี้บ้าน ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้เกิดความมั่นคง แต่อย่าลืมว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นคุณทั้งคู่ต้องไม่สร้างหนี้ หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการคิดอย่างรอบคอบที่สุดแล้วว่าการเป็นหนี้ครั้งนี้จะมีข้อดีอะไรบ้าง หรือต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนจะสร้างหนี้นั่นเอง
การตั้งคำถามและตอบคำถามของตัวเอง ทำให้เราได้คิดอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งว่าสิ่งนั้นจำเป็นจริงหรือไม่ แต่ทางที่ดีควรปรับลดขนาดของความต้องการลง เพื่อให้ขยับตัวได้ง่ายขึ้น เพราะ
หลังแต่งงานแล้วจะใช้จ่ายอะไรต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น ไม่ใช่มีแค่ตัวเราเหมือนเมื่อก่อน ต่างคนต่างมีความรับผิดชอบอีกหลายอย่างที่ต้องผ่านไปด้วยกัน