เรื่องปวดเฮด...เมื่อแฟนต่างชาติไม่เก็ทเรื่อง “ค่าสินสอด”


ในยุคที่การติดต่อสื่อสารข้ามแดนง่ายดายอย่างในยุคนี้ สาวไทยจำนวนไม่น้อยที่นิยมคบหาดูใจกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวต่างชาติทางแถบยุโรป ซึ่งสาวๆ หลายคนการันตีความ "งานดี" อีกทั้งวัฒนธรรมที่อาจจะเข้ากับสไตล์ของสาวยุคใหม่ทำให้รู้สึกสบายใจที่จะอยู่ด้วย แต่เมื่อความสัมพันธ์เติบโตมาจนถึงขั้นวางแผนแต่งงานกันเป็นเรื่องเป็นราว สาวๆ หลายคนอาจจะต้องกลับมากุมขมับ เพราะเจอกับปัญหาก้อนใหญ่นั่นก็คือ "สินสอด" นั่นเอง

ทำไมหนุ่มต่างชาติถึงแอนตี้สินสอดกันนัก?
คำตอบง่ายมาก เพราะคุณกับเขาอยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างกันน่ะสิคะ ในสายตาของชาวต่างชาติที่ไม่ได้เติบโตมาในวัฒนธรรมบ้านเราอาจมองว่า การที่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเรียกค่าสินสอดนั้นก็คล้ายๆ กับการขายลูกสาว ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา ยิ่งครอบครัวไหนเรียกค่าสินสอดแพงหูฉี่ ก็อาจจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเข้าไปกันใหญ่ จากที่รักกันดีๆ อาจจะทะเลาะกัน บานปลายไปจนถึงขั้นเลิกรากันก็ได้ Happy Wedding.Life มีข้อแนะนำสำหรับสาวๆ ที่มีแพลนจะแต่งงานกับชาวต่างชาติ ว่าเราจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไรดีค่ะ



เรื่องปวดเฮด...เมื่อแฟนต่างชาติไม่เก็ทเรื่อง “ค่าสินสอด”


ลองคุยกับว่าที่เจ้าบ่าวให้เขารู้ตัว
สาวๆ หลายคนอาจคิดกังวลล่วงหน้าไปเองว่า ว่าที่เจ้าบ่าวจะไม่เข้าใจประเพณีนี้ แต่พอได้เอ่ยปากพูดคุยกันก็พบว่า มีหนุ่มๆ หลายคนที่เข้าใจ และพร้อมที่จะเปิดใจกว้างรับฟัง รวมทั้งทำตามประเพณีงานแต่งแบบไทยอย่างไม่คิดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากแฟนหนุ่มของคุณมีเงินทองมากเพียงพอ คุณอาจจะลองบอกกับเขาว่า แต่งงานแบบประเพณีไทย จะต้องมีค่าใช้จ่ายตรงนี้นะ ถ้าแฟนหนุ่มของคุณเข้าใจ ทุกอย่างก็ผ่านฉลุย

เรื่องปวดเฮด...เมื่อแฟนต่างชาติไม่เก็ทเรื่อง “ค่าสินสอด”


อธิบายให้เขารู้จุดประสงค์ของสินสอด
ในกรณีที่แฟนหนุ่มของคุณไม่เข้าใจ แล้วเกิดคำถามว่า "เฮ้! ทำไมไอจะแต่งงานกับยู ต้องให้เงินพ่อแม่ยูด้วย" มาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งตกใจ หน้าที่ของเราก็คือ ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจถึงประเพณีการให้ค่าสินสอดของไทยว่า มันไม่ใช่การขายลูกกินอย่างที่เขาคิด แต่พอจะมีเหตุผลดังนี้

1. เหตุผลเรื่องความกตัญญู
สังคมไทย ลูกสาวอาจต้องหาเลี้ยงพ่อแม่ เป็นการแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่ง เพราะผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่มีค่าบำเหน็จบำนานที่ดีพอเหมือนในหลายๆ ประเทศ การให้สินสอด ก็เป็นเหมือนการช่วยเหลือชดเชยในจุดนี้
2. หลักประกันแบบไทยสไตล์
สินสอดอาจเป็นหลักประกันที่พ่อแม่เก็บไว้ให้ลูกสาว หากต้องมีการหย่าร้างในภายหลัง เนื่องจากค่านิยมในสังคมไทยนับตั้งแต่โบราณ ผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกแล้ว อาจจะหาคู่ชีวิตใหม่ได้ยาก
3. ของขวัญแทนคำขอบคุณ
สินสอดใช้แทนคำขอบคุณ เป็น "ค่านมแม่" ในกรณีที่บ้านฝ่ายหญิงไม่ได้ร่ำรวยมากนัก ผู้ใหญ่อาจขอค่าสินสอดเป็นค่าลงทุนเลี้ยงดูลูกสาว ซึ่งพ่อแม่จะเป็นฝ่ายเก็บไว้ แต่ก็มีหลายครอบครัว ที่พ่อแม่คืนค่าสินสอดให้บ่าวสาวเพื่อเป็นต้นทุนในการสร้างครอบครัว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใหญ่

การค่อยๆ อธิบายถึงเหตุผลของประเพณีเรียกค่าสินสอด อาจช่วยให้แฟนหนุ่มของคุณเข้าใจได้มากขึ้นก็ได้นะคะ แต่ถ้าอธิบายจนปากเปียกปากแฉะแล้ว แฟนหนุ่มของคุณยังไม่เข้าใจ หรือคุณมีอุปสรรคด้านภาษาที่ไม่สามารถอธิบายทุกอย่างให้แฟนชาวต่างชาติเข้าใจได้ ลองให้เขาเข้าไปอ่านเว็บไซต์ต่างๆ เกี่ยวกับการแต่งงานกับผู้หญิงไทยซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เว็บไซต์เหล่านี้ อาจเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับคุณ


เรื่องปวดเฮด...เมื่อแฟนต่างชาติไม่เก็ทเรื่อง “ค่าสินสอด”


ไม่ทิ้งเขาให้รับมือเพียงลำพัง
หากดูทรงแล้ว งานแต่งครั้งนี้จำเป็นต้องมีค่าสินสอดแน่ๆ ลองแสดงความรักของเราให้แฟนหนุ่มเห็น โดยเสนอตัวช่วยหาและช่วยเก็บค่าสินสอดไปพร้อมกันกับเขา แฟนหนุ่มของคุณอาจจะเข้าใจคุณมากขึ้นและรู้สึกดีขึ้น เพราะนี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า คุณเป็นผู้หญิงที่พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาอย่างแท้จริง

ตกลงกับพ่อแม่ให้เรียบร้อย
หลังจากเกริ่นบอกกับแฟนหนุ่มไปแล้ว ทีนี้ก็มาถึงครอบครัวของเรา จุดนี้ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวของใครเป็นอย่างไร หากครอบครัวที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องค่าสินสอด เรียกไม่มาก หรือได้มาก็คืนให้บ่าวสาวหมด แบบนี้ก็โล่งกันไป แต่ถ้าครอบครัวไหนเคร่งครัด ต้องทำตามประเพณีไทยทุกอย่าง ก็อาจต้องอธิบายให้พ่อกับแม่เข้าใจถึงสถานะความเป็นจริง ทั้งเรื่องฐานะของว่าที่เจ้าบ่าว ว่าอยู่ในฐานะร่ำรวย ปานกลาง หรือระดับพื้นฐาน ซึ่งจะสัมพันธ์กับค่าสินสอดที่พ่อแม่ต้องการ

โดยส่วนมาก ปัญหาจะไม่เกิด หากแฟนหนุ่มของคุณมีเงินทองล้นเหลือ แต่ในกรณีที่แฟนของคุณก็เป็นผู้ชายธรรมดา ที่ทำงานหนัก คุณอาจตกลงกับครอบครัวของคุณ โดยอาจจะเสนอทางออกแบบพบกันครึ่งทางดังนี้

1. เก็บครึ่งคืนครึ่ง
เป็นการพบกันครึ่งทาง คือหลังจากผ่านงานแต่งงานไปแล้ว พ่อแม่เก็บสินสอดไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งก็ส่งคืนให้กับแฟนหนุ่มของคุณ

2. ผ่อนจ่าย

ลองคุยกับพ่อแม่ว่า แม้ว่าในงานจะไม่มีค่าสินสอดมากมายมาอวดใครๆ แต่หลังจากแต่งงานไปแล้ว แฟนหนุ่มจะช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านเป็นงวดๆ ไปจนกว่าจะครบ หลายครอบครัวก็ยอมรับในเงื่อนไขนี้ได้เป็นอย่างดี

3. ไม่มีสินสอด แต่จัดงานแบบเต็มที่

หนุ่มๆ หลายคนอาจจะไม่เก็ทเรื่องค่าสินสอด แต่เก็ทเรื่องการจัดงานที่อลังการก็ได้ ลองยื่นข้อเสนอว่า ในงานไม่มีค่าสินสอด แต่จัดงานให้ยิ่งใหญ่ไม่อายใคร พ่อแม่ของบ่าวสาวบางคู่ก็ยินดีค่ะ

ทั้งนี้การตกลงเรื่องค่าสินสอดกับผู้ใหญ่จะได้ผลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความคิด ทัศนคติ และค่านิยมทางสังคมของแต่ละครอบครัว อาจจะลำบากสักนิด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีพิสูจน์รักได้เหมือนกันนะคะ

แต่งงานแบบสายสตรองสุดท้ายแล้ว 

ก็มีสาวๆ หลายคนที่คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ บางคนก็เลือกที่จะออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เองทั้งหมด หรือบางคนก็แก้ปัญหาด้วยการไม่จัดงาน แต่จดทะเบียนสมรส เดินเข้าประตูวิวาห์แบบเรียบง่าย ซึ่งวิธีนี้อาจเหมาะกับสาวมั่น หัวสมัยใหม่สักหน่อย แต่ก็มีสาวๆ หลายคนเลือกใช้วิธีนี้ และมีครอบครัวที่มีความสุขได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาวๆ จะเลือกวิธีไหนในการแก้ปัญหา Happy Wedding.Life ก็ขอเอาใจช่วยให้ทุกคนได้มีชีวิตคู่ที่ดี และมีความสุขไปนานๆ เลยนะคะ



เรื่องปวดเฮด...เมื่อแฟนต่างชาติไม่เก็ทเรื่อง “ค่าสินสอด”

เครดิตภาพปก : at.homestudio


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์