เทคนิคจัดการเรื่องเงินๆทองๆ ก่อนแต่งและหลังแต่ง


เรื่องเงินๆ ทองๆ หลายคนมักจะบอกว่าเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้...แต่ถ้าจะพูดให้จบ ต้องบอกว่าจะหาใหม่ได้นั้นมันช่างยากนัก ดังนั้นเรื่องเงินๆทองๆจึงไม่เข้าใครออกใคร ซึ่งเราเองก็ต้องมีเทคนิคจัดการเงินๆทองๆให้ทำงานแทนเรา บริหารมันให้อยู่หมัด เราต้องเป็นเจ้านายของมันไม่ใช่ให้มันมาเป็นนายเรา สำหรับคู่รัก คู่แต่งงาน และคู่สามีภรรยา แล้วนั้นเราควรมีเทคนิคจัดการเรื่องนี้อย่างไร ถ้าเริ่มที่กระดุมเม็ดแรกถูก มันก็ติดถูกไปตลอดแถวเลยเชียวนะ

เทคนิคจัดการเรื่องเงินๆทองๆ ก่อนแต่งและหลังแต่ง


1. ก่อนแต่ง
เมื่อคุณทั้งสองคบหากันมาได้สักพักใหญ่จนตกลงเป็นแฟนและคาดว่าจะมีชีวิตคู่ร่วมกันแล้วนั้น คุณทั้งสองก็ควรจะเคลียร์เรื่องนี้ตั้งแต่แรกๆ ของการเป็นแฟนเลยเชียวนะ เพื่อที่จะไม่ได้มาทะเลาะกันภายหลัง เมื่อคุณโสดเงินของคุณถือคนละกระเป๋า แต่พอมาเป็นแฟนกันแล้วก็ควรจะตกลงกันให้ดีว่าจะรวมหรือแยกกระเป๋า ทั้งนี้เราจะไม่แนะนำว่าคุณควรรวมหรือแยกกระเป๋า เพราะความจำเป็นและความลงตัวของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน

แต่จะขอแนะนำว่าถ้าคุณแยกกระเป๋าสิ่งที่ควรจะบริหารจัดการถ้าคุณมีเงินเดือนละ 1,000 บาท คุณควรจะจัดแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆดังนี้ ใช้ส่วนตัว 250 บาท รายจ่ายต่างๆในบ้าน(ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และอื่นๆ) 450 บาท เงินออม 150 บาท เงินสำรองเก็บเพื่อแต่งงาน 150 บาท เป็นต้น

ซึ่งเงินในส่วนที่เป็นเงินออมและเงินสำรองเก็บเพื่อแต่งงานนั้นคุณควรแยกบัญชีฝากนอกเหนือจากบัญชีเงินเดือนและบัญชีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้เป็นสัดส่วนและไม่เผลอนำไปใช้และเงินก้อนนี้คุณยังไม่ควรนำไปลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพราะอาจจะเสียหายได้ ทางที่ดีควรลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิเช่น สลากออมสิน หรือบัญชีเงินฝากอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งนี้เพื่อเก็บออมไว้สำหรับงานแต่งงานของคุณสองคนจะดีกว่า ทั้งนี้ในกรณีคุณรวมกระเป๋าก็ใช้เทคนิคเดียวกันได้เลย เพียงแต่ว่าคุณก็ควรจะต้องแบ่งกันให้ดีว่าใครจะเป็นคนดูแลเรื่องเงินเก็บ และใครจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นกับคุณสองคน

2. ตอนแต่งงาน
แน่นอนว่าช่วงที่คุณกำลังจะแต่งงานเรื่องเงินๆทองๆนี่วุ่นวายมาก เชื่อเหลือเกินว่าคู่บ่าวสาวนักต่อนักแล้วต้องนั่งเสียน้ำตาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเหตุจากการณ์เคลียร์เรื่องสินสอดทองหมั้นไม่ชัดเจนกับผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย หรือการที่ผู้ใหญ่ให้หรือไม่ให้สินสอด กับคุณทั้งสอง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอันอาจจะเกิดขึ้นระหว่างทางที่คุณจะจัดงานแต่งงานก็ดูน่าปวดหัวไม่น้อย แน่นอนว่าเทคนิคการบริหารเงินก่อนแต่ง คุณยังต้องนำมาใช้ต่อ แต่สำหรับการจัดงานแต่งงานแล้วคุณจำเป็นจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่

ดังนั้น เงินสำรองเก็บเพื่อแต่งงานคุณต้องเตรียมออกมาใช้ทั้งหมด ในกรณีที่ไม่พอ ก็ต้องตามไปต่อที่บัญชีเงินออม แล้วถ้ายังไม่พออีกคุณคงจะต้องมีเงินยืมแล้วล่ะ ซึ่งเงินยืมนี้คุณจะต้องดูให้ดีว่าอัตราดอกเบี้ยจ่ายเท่าไหร่ และคุณจะต้องใช้เวลาชำระคืนยาวนานแค่ไหน รวมไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของคุณด้วยว่าสามารถชำระได้หรือไม่อย่างไร คุณไม่ควรคาดหวังซองเงินช่วยงาน ว่าจะช่วยชำระหนี้ได้เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าเงินช่วยงานที่คุณได้รับมันจะมากพอตามที่คุณคาดหวังไว้ ในช่วงเวลานี้คุณจำเป็นต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดต้องทำบัญชีรับจ่ายให้เห็นตัวเลข ก่อนจะใช้อะไรจะจ่ายอะไรต้องจดให้หมดทุกอย่าง ถ้าคุณไม่อยากเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการเป็นหนี้ ลองคิดดูให้ดีๆว่าถ้าคุณเริ่มต้นชีวิตคู่จากการติดลบ กับคู่เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการนับ 1 แบบไหนจะดีกว่ากัน

3. หลังแต่งงาน

เมื่องานแต่งอันสวยหรูของคุณได้ผ่านพ้นไปแล้วในชั่วพริบตา ทีนี้ล่ะคุณจะได้พบกับโลกแห่งความเป็นจริงล้วนๆ ตกลงแล้วสินสอดทองหมั้นคุณได้รับมาเป็นเงินทุนตั้งตัวหรือไม่? จัดงานเสร็จแล้วซองที่ได้รับช่วยมากพอ ที่จะจ่ายค่าโรงแรมหรือเปล่า? เงินรับไหว้เงินยกน้ำชาพอจะนำมาเป็นเงินก้นถุงได้ไหม? สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่คุณจะต้องเจอกับความจริงหลังจากงานแต่งของคุณผ่านพ้นไปไม่เกิน 3 วัน

ในกรณีที่คุณโชคดี ได้รับสินสอดทองหมั้นมาตั้งตัว ได้รับเงินช่วยงานเพียงพอ ได้รับเงินรับไหว้เงินยกน้ำชามากพอที่จะเป็นเงินก้นถุงนำไปลงทุนต่างๆ ก็ขอแนะนำว่าให้จัดการเงินหรือทรัพย์สินเหล่านั้น ดังนี้ ทองคำ เครื่องเพชร และของมีค่าอื่นๆที่ไม่ใช่เงินสด แนะนำว่าคุณควรจะเช่าตู้นิรภัยจากทางธนาคารเพื่อจัดเก็บของเหล่านี้ให้เรียบร้อย หรือไม่ถ้าคุณมีตู้นิรภัยที่บ้านก็ควรจัดเก็บให้ดี

สำหรับเงินสด แนะนำให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ 60:40 คือร้อยละ 60 ของเงินให้คุณควรนำไปลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางจนกระทั่งถึงความเสี่ยงเกือบสูง ทั้งนี้เพื่อให้เงินของคุณงอกเงยขึ้นมามากยิ่งขึ้นเพื่ออนาคตที่ดีสำหรับคุณทั้งสองคน การลงทุนพวกนี้ก็ได้แก่ อาจจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น การลงทุนค้าขาย หรืออื่นๆตามความถนัดของคุณ ในส่วนร้อยละ 40 ที่เหลือ ให้ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิเช่น พันธบัตร สลากออมสิน ธกส. หรือการลงทุนในประกันชีวิตระยะสั้น ทั้งนี้นอกจากได้ผลตอบแทนแล้วคุณยังได้รับการคุ้มครองชีวิตและสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วยนะ

เทคนิคการบริหารเงินๆทองๆง่ายๆแบบนี้ เราเชื่อว่าน่าจะทำให้ชีวิตคู่ของคุณมีความสุขและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นค่ะ



เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์